บทความในส่วนของ Basic SEO บทความที่แล้ว ผมได้อธิบายว่า SEO onpage กับ SEO offpage คืออะไรไปแล้ว แต่คนทำ SEO มือใหม่หลาย ๆ คนมักจะถามว่า “SEO on-page มีอะไรบ้าง และต้องปรับยังไง?” เพราะงั้นวันนี้ผมเลยตั้งใจว่าจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้นและมีพื้นฐานแน่นพอที่จะลุยกับเส้นทาง SEO ที่แสนซับซ้อนนี้ได้ง่ายขึ้น (อีกนิด … ถึงจะนิดก็ยังดีเนอะ)
มาทบทวนสั้น ๆ แต่เนื้อหาแน่น ๆ กันอีกทีว่า SEO on-page เนี่ยคืออะไรกันก่อนดีกว่า SEO on-page ก็คือส่วนประกอบใด ๆ ที่อยู่ในเว็บเรา แล้วเราสามารถปรับแต่งมันเพื่อให้ได้ Ranking ที่ดีขึ้นได้ (จะว่าไปมันก็คล้าย ๆ กับการแต่งผ้าหน้าผม เพื่อให้เพศตรงข้ามชอบเรามากขึ้นเลยนะเนี่ย)
แย่ละ จะมานอกเรื่องไม่ได้ละ ท่าทางบทความนี้จะยาวเดี๋ยวไม่ได้หลับได้นอนกันพอดี เอาเป็นว่าเรามากันเลยดีกว่าว่า SEO on-page มีอะไรเป็นผู้เล่นตัวหลักบ้าง:
0.Domain … ผมขอยก Domain name เป็นอันดับที่ศูนย์ละกัน เพราะมันเปลี่ยนไม่ได้หลังจากจดไปแล้ว โดเมนเนมเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งที่เราสามารถจัดการทิศทางได้ ซึ่งช่วยเราได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นก่อนจะจดชื่อโดเมน ก็ควรคิดชื่อ “ที่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเว็บเรา” ไว้บ้างก็น่าจะดี … แ่ต่ถ้าใครจดโดนเมนไปแล้วก็ไม่ต้องตกใจไปครับ domain name กับ seo มีผลไม่ได้เยอะขนาดนั้น โดยเฉพาะการวัดผลในระยะยาว เพราะยังไงซะ โดเมนก็เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบอันเดียวจากสองร้อยชิ้นส่วนครับ … หากเปรียบ Google เป็นสาว ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าสาว ๆ หลายคนชอบหนุ่มเล่นกีฬาเก่ง เพราะดูเท่ไม่น้อย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า สาวคนนั้นจะเมินหนุ่มที่สามารถเดินไปคุยกับฝรั่งปร๋อ คุยเก่ง ร่าเริง หรือว่าตลกหรอกนะครับ เพราะนั่นก็เป็นปัจจัยอื่น ๆ ที่นำมาพิจารณาเหมือนกันเหมือนกัน จริงมั้ย! (แต่ก็คงจะลำบากหน่อยหาก หนุ่มน้อยเก่งไปซะทุกอย่างเลย) … มีคำยืนยันจาก Matt Cutts (Search Engineer ของ Google) ผ่าน Youtube ในเรื่องนี้ ผ่านหัวข้อความสำคัญของ keywords ใน Domain ต่อการทำ SEO ด้วย
1.Title … เป็นที่กล่าวขวัญกันมานานแล้วว่า ไอ้เจ้า Page Title เนี่ยแหละที่เป็นพระเอกของ SEO on-page ซึ่งผมก็เห็นว่าน่าจะจริงเลยทีเดียว เนื่องจากผมเคยพลาดท่า เปลี่ยน Title tag ผิด page ที่ทำให้อันดับร่วงไปไกล พร้อมกับไอ้เจ้าหน้าใหม่(ที่เปลี่ยนผิด) เสนอหน้าขึ้นมาแทนมาแล้ว สรุปแล้วเป็นพระเอกมั้ย ผมก็ไม่รู้ ผมรู้แต่มันมีผลเยอะ มาก ๆ เลยทีเดียว … ที่อยากจะฝากไว้ตรงนี้คือ การตั้งชื่อ title ให้ เอา keyword หลักของเพจนั้นขึ้นก่อน เพราะคำที่มาก่อนจะมีน้ำหนักมากกว่าคำที่มาหลัง ส่วนการจะเว้นวรรค หรือใช้อะไรคั่นข้อความหรือ keyword ที่เราต้องการแยกออกจากกันเนี่ย ตามคำแนะนำของ Matt Cutts มาอธิบายในการทำ SEO ควรใช้ comma เป็นตัวแบ่งคำใน title tag หรือเปล่า? และเราควรใช้ Pipe หรือ Dash ใน Title สำหรับ SEO? ผ่าน Youtube ว่าใช้อะไรก็ได้ที่น่าจะเป็นตัวแบ่งแยกข้อความได้ เช่น ช่องว่าง(space) คอมม่า(,) แสลช(/) ไปป์ (|) เป็นต้น แต่ ย้ำนะครับว่ามีแต่ พยายามอย่าใช้ ขีดล่าง หรือ underscore (_) เพราะว่าจะถูกมองว่าเป็นข้อความเดียวกัน ไม่ได้แยกจากกัน นั่นเอง … โอ๊ะ ๆ เกือบลืม ตั้งชื่อ Title ได้ 60 ตัวอักษรเท่านั้นนะครับ ที่เกินกว่านั้นจะไม่ถูกนำออกมาแสดง ซึ่งจะทำให้ user อ่านไม่รู้เรื่องได้ครับ (หากพื้นที่ไม่เหลือเยอะ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อเว็บหรือบริษัทลงไป เพราะใช้กับคำอื่นน่าจะมีประโยชน์กว่า)
2.Heading … การใช้ Heading Tag ภายในเพจ ๆ หนึ่ง ก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่เน้นกันจริง ๆ คงเป็น H1 ซึ่งทำหน้าที่ เหมือนกับเป็นหัวเรื่องให้คนอ่านในหน้าเว็บนั่นแหละ (แต่ Title ไว้สำหรับหัวเรื่องตอนแสดงผล Search ดูจะเหมาะกว่า เพราะถึงแม้ว่าจะนำมาใช้แสดงใน Browser จริง จะมีสักกี่คนที่อ่านตรงนั้น) … ปัจจุบันยังไม่มีใครยืนยันว่า Heading มีผลขนาดไหน แต่มันต้องมีผลแน่นอน เอ่อ .. แล้วก็ไม่ได้หมายความว่า H2, H3, … จะไม่มีผลนะครับ แต่คงจะไม่มากเท่า H1 เท่านั้นเอง เพราะยังไงซะจากคำแนะนำของ Cutts ก็คือให้มี H1 แค่อันเดียวในหนึ่งหน้า เพราะหัวข้อหลักควรมีอันเดียว ถ้ามีย่อย ๆ ก็ใช้ Heading tag ที่เล็กลงมา (อ้างอิงจาก: ในการทำ SEO ใช้ H1 มากกว่า 1 อันต่อเพจ ดีหรือไม่ดี?)
3.Content … เนื้อหาของเว็บเป็นสิ่งสำคัญส่วนนึงแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ Google ได้อัพเดท Algorithm ตัวใหม่ที่ชื่อว่า Panda Algorithm (แต่ตอนนั้นบอกว่าทำการทดลองแค่ใน US และมีผลกระทบกับการ Ranking ถึง 12% ซึ่งประมาณ 6 สัปดาห์ถัดมาได้ใช้ Feedback จากตัว Panda original นั้นมาปรับแก้ให้ Algorithm มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้กับทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะใน US แล้ว แต่ยังใช้เฉพาะเว็บไซต์ภาษาอังกฤษเท่านั้น อ้างอิงจาก high quality sites algorithm goes) ซึ่งทำให้เราต้องหาทางนำเสนอเนื้อหาที่ดีมากยิ่งกว่าเดิม ซึ่งหลัก ๆ ในปัจจุบันนอกจากการพยายามอย่าใช้ keyword ซ้ำกันเยอะ ๆ แล้ว (Keyword Spamming) ต้องมีเนื้อหาที่มีเป็นประโยชน์ด้วย ซึ่งเนื้อหาที่มีประโยชน์ในที่นี้ ไม่ได้พูดถึงแค่ความยาวเพียงอย่างเดียว แต่การนำมารูปภาพและวิดีโอยังมีส่วนนำมาพิจารณาด้วยเหมือนกัน … ฝากไว้นิดนึง สำหรับคนที่ชอบ spam keyword ว่าแทนที่จะทำแบบนั้น พยายามหา keywords ที่มีลักษณะสอดคล้องหรือเกี่ยวข้องกันมาใช้แทนดีกว่า การ spam keyword นั้นนอกจากจะไม่ยากสำหรับ google ที่ตรวจจับแล้ว ยังทำให้เนื้อหาไม่น่าอ่านอีกด้วย เพราะงั้นต้องหาวิธีทำยังไงก็ได้ให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด แล้วก็อีกอย่างนึง เราควรพิจารณาด้วยว่า user น่าจะใช้คำแบบไหน search เพราะ user แต่ละคนอาจจะ search คนละแบบนั่นเอง … คิดเรื่องพวกนี้คงไม่ยากหรอกมั้ง ทีแอบไปกับกิ๊กยังหาทางเนียนกันได้เลยนี่เนอะ!
4.Internal linking … หากใครติดตามการเคลื่อนไหวของ SEO ต่างประเทศ จะรู้ว่าช่วงปี 2010 จนถึงปัจจุบัน มีการพูดถึงเรื่องการลิ้งค์ภายในเว็บไซต์ (Internal linking) บ่อยครั้งมาก (ลองอ่านเรื่อง SEO กับโครงสร้างเว็บแนวนอนที่ผมเขียนไว้ก็ได้ครับ เพราะเป็นตัวอย่างนึงในเรื่องนี้เหมือนกัน) ซึ่งเจ้า Internal linking นี้ มีความเชื่อกันว่าส่งผลกระทบต่อ Ranking เช่นกัน … การจัดการ internal linking ให้มีประสิทธิภาพ ก็คือทำยังไงให้ structure ภายในเว็บของเราส่งค่า PR ไปยังส่วนที่เราเน้นมากที่สุด ซึ่งการลิ้งค์ไปยังหน้าที่ไม่จำเป็น เมื่อก่อนนี้ก็มีการเอา nofollow มาใส่บ้าง ใช้ Javascript มาทำเป็นลิ้งค์เพื่อให้ bot ไม่นับบ้าง (แต่ปัจจุบันการใช้ nofollow เพื่อจัดการ PR ไม่ได้ผลแล้ว) อีกอันนึงที่อยากให้ลองพิจารณาดูก็คือบทความความสำคัญของ link ที่ส่งไปเพจเดียวกันที่ผมเขียนไว้ ซึ่งมันก็เกี่ยวเนื่องกับข้อที่ 5 anchor text ด้วย
5.Anchor Text … ข้อความของลิ้งค์ (Anchor Text) ที่เราใช้ในเว็บก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ส่วนนี้จะเป็นการเน้น keyword ที่เราใช้ เพราะงั้นคิดดี ๆ ว่าจะใช้คำว่าอะไร จึงจะเหมาะกับเพจปลายทางนะครับ … ในส่วนนี้ (อ้างอิงจาก link ในบทความกับ link ตาม footer มีความต่างกันในแง่ SEO หรือไม่? ) ก็มีการบอกว่า link ที่อยู่ภายในบทความ ดูเหมือนว่าจะมีน้ำหนักมากกว่า ตาม footer หรือ navigation bar เพราะว่า google สามารถใช้ประโยชน์จากข้อความรอบ ๆ มาตีความความหมายของ anchor text ได้มากขึ้น อีกอย่างหนึ่งก็คือ การสร้าง anchor text แบบหลากหลาย เพื่อรองรับการค้นหาจากหลาย ๆ users (ซึ่งหมายถึงว่าแต่ละคนอาจจะใช้คำค้นหาคนละอย่างกัน)
6.Alt Tag … เพราะว่ารูปภาพสื่อความหมายได้เป็นพันคำ มันจึงช่วยเสริมบทความให้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านเยอะ เพียงแต่ว่าในทางคอมพิวเตอร์แล้ว มันค่อนข้างยากที่จะให้เครื่องจักรมานั่งทายว่าภาพนี้คือภาพอะไร Google และ Search Engine อื่น ๆ จึงขอให้ใส่ Alt tag เพื่อเป็นการบอกว่ารูปภาพนั้นเกี่ยวกับอะไร … ยังมีการแนะนำมาอีกนะครับว่า ข้อความรอบ ๆ รูปภาพถูกนำมาพิจารณาด้วยว่า รูปภาพเกี่ยวกับอะไร เพราะฉะนั้นควรเลือกใส่รูปภาพที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อหาด้วย
7.File name… การตั้งชื่อ File ก็เป็นส่วนช่วยได้เช่นกัน เพราะเสริมให้น้ำหนักของ keyword มีมากขึ้น ในส่วนนี้คงไม่มีอะไรมากเพียงแค่เน้นไปที่ชื่อ File ที่เกี่ยวข้องกับ keyword ของเพจนั้น ๆ ก็พอ แต่อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่า ตัวคั่นคำแต่ละคำ อย่าใช้ underscore นะครับ เพราะจะทำให้ถูกมองเป็นคำเดียวกัน … ถึงแม้ว่าจริง ๆ แล้วผมเชื่อว่า Bot สามารถแยกแยะได้ (โดยเฉพาะคำภาษาอังกฤษ) แต่ถ้าเราช่วยได้ มันก็น่าจะดีกว่าจริงมั้ย … ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสั่ง print งานชิ้นหนึ่งไปยัง printer ส่วนรวม เราจะเดินไปหยิบเองก็ทำได้ แต่คงสบายยิ่งขึ้นถ้ามีคนหยิบมาให้เราถึงโต๊ะน่ะนะ … ลืมบอกไปว่าการตั้งชื่อ Folder ก็สามารถนำหลักการนี้มาใช้ ได้ด้วยนะ แต่ Folder จะใช้สำหรับภาพรวมมากกว่า
7.5.static – dynamic URL … ผมขอยกอันนี้เป็น 7.5 ละักัน เพราะหลัก ๆ ก็เหมือนการตั้งชื่อ File นั่นแหละ แต่อาจจะเป็นอะไร ๆ ที่หลาย ๆ คนมองข้ามไป โดยเฉพาะ Programmer ทั้งหลายที่ไม่เคยศึกษา SEO เลย ซึ่งผมเองเมื่อหลายปีก่อนก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน … สิ่งสำคัญของส่วนนี้คือทำยังไงให้การใช้ Dynamic URL อย่างเช่นพวก ที่มีเครื่องหมาย ? แล้วตามด้วยค่าต่าง ๆ เปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีความหมายมากขึ้น … สำหรับเรื่องนี้ วิดีโอจาก Matt Cutts ในเรื่องการจัดวางตำแหน่งของ keyword ใน URL กับ SEO น่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง
มาดูตัวอย่างกันสักหน่อย (สมมุติว่าเป็นเพจตัวอย่างด้านล่างเดียวกัน แต่ใช้ URL คนละแบบ)
(Dynamic) http://www.abc.com/index.php?id=33455
(Static) http://www.abc.com/10-วิธีง้อแฟน-หลังจับได้ว่ามีกิ๊ก/
จะเห็นว่าอย่างหลังมีโอกาสได้ประโยชน์จากการ Search กว่าเยอะ เพราะว่านอกจากจะทำให้ได้ keyword จาก URL แล้วยังทำให้ user รู้แน่นอนว่าเพจ ๆ นี้เกี่ยวกับอะไรกันแน่ (ดูจากตัวอย่างแล้วคุณรู้มั้ยล่ะ ^^) ซึ่งวิธีการเปลี่ยนจาก Dynamic URL เป็น Static ก็ให้ลองหาอ่านพวกการ rewrite URL ซึ่งอาจจะยุ่งยากซะหน่อยสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ CMS แต่สำหรับคนที่ใช้ CMS อย่าง WordPress มันก็จะมี Permanant link ให้เลือกเลยว่าจะเอาแบบไหน แบบว่าง่าย ๆ สุด ๆ
8.CSS / Javascript file … ความเร็วในการโหลดเว็บเพจ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาแล้วในปัจจุบัน ซึ่งหากใครใช้ Google Webmaster Tools (GWT) แล้ว คงสังเกตุเห็นว่ามีการเก็บข้อมูลความเร็วในการด้วย แต่ในส่วนนี้ผมจะยังไม่พูดขึ้นเรื่องที่มัน Advanced มากนัก เอาธรรมดา ๆ ก่อน จะได้งงน้อยหน่อย! …
– Javascript กับ CSS ให้แยกเป็นไฟล์ต่างหาก
– หากสามารถทำได้ ควรแยกไฟล์ CSS หรือ Javascript ที่ใช้ไม่บ่อยออกเปห็น File ต่างหาก จะได้ไม่ต้องทำการโหลดทุกหน้า ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ ในที่นี้รวมไปถึงคนที่ใส่ รูปภาพใน CSS มันจะโหลดรูปทุกหน้าที่มี CSS ตัวนั้น ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ก็ตาม จุดนี้จะทำให้เพจหน่วงได้มากเลยทีเดียว
Cutts เองเคยพูดว่า ที่จริงอย่าคิดเรื่อง Page Speed จะช่วย Ranking แต่ให้คิดว่าจะช่วย user ยังไงดีกว่า เพราะว่ามีงานวิจัยหลายชิ้น รายงานว่า ถ้าเพจโหลดเร็ว user จะใช้เวลาบนเว็บนานขึ้น .. ซึ่งเราอาจจะได้รายได้มากขึ้นไปด้วยก็ได้ … ในเรื่อง speeding เอาไว้เราค่อยมาดูรายละเอียดแบบเน้น ๆ ในวันที่ผมมีเวลาเขียนเรื่องนี้ดีกว่า
9.Duplicate content … การรู้เท่าไม่ถึงการ มีโอกาสทำให้เราสร้างเนื้อหาซ้ำซ้อน (Duplicate content) ของเว็บตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดใช้งาน domain ทั้งแบบ www และ non-www จะทำให้เรามีเนื้อหาแบบเดียวกันสองที่ ควรเลือกใช้งานอันใดอันหนึ่ง อีกอันนึงก็คือ หน้าแรกสุด (root page) กับหน้าแรกสุดแบบมีชื่อไฟล์ เช่น http://www.abc.com/ กับ http://www.abc.com/index.php ก็สามารถถูกมองเป็น Duplicate content เช่นกัน รายละเอียดแบบเต็ม ๆ ในส่วนนี้สามารถอ่านได้ที่ หลีกเลี่ยงปัญหา duplicate content บนเว็บเราเอง
10.Meta Description … ตั้งแต่ปี 2009 Meta Description ได้รับการยืนยันมาเรียบร้อยแล้วนะครับว่า “ไม่มีผลต่อ Ranking!” ซึ่ง ณ จุดนี้ ผมได้ยกอ้างอิงจาก keywords meta tag in web search ไว้ให้ด้วย เพื่อความกระจ่างชัดเจน ซึงในส่วนของ comment ย้ำนะครับว่าในส่วนของ comment สำหรับคนที่อยากจะอ่าน Cutts บอกว่า
“meta descriptions don’t count in scoring (that is, determining the scores which are then used to determine what order to show the results in). So changing your meta description tag won’t make your website rank higher.”
meta description ไม่ถูกนำมาให้คะแนนที่จะจัดอันดับเว็บไซต์ ดังนั้น การเปลี่ยน meta description tag จะไม่ส่งผลให้ Ranking ของคุณสูงขึ้น
แต่นั่นก็เป็นแค่ Google นะครับที่บอกว่าไม่ได้ใช้บริษัท SE อื่น ๆ อาจจะยังใช้อยู่ก็ได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ meta description จะถูกนำมาใช้แสดงเป็นคำอธิบายเวลา user ค้นหาด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะต้องเขียนอยู่ดี แต่การเขียนคงจะเป็นเขียนให้ดึงดูด user เข้ามาดูมากที่สุด เพราะ % การคลิ้ก หรือ Click Through Rate(CTR) คาดว่าจะถูกนำมาคิดด้วยเหมือนกัน เพราะว่าในการ Search ส่วนบุคคล (personalized search) อันดับยังสามารถแปรเปลี่ยนไปตาม % การ click ของ user แต่ละคนได้เลย … นั่นหมายความว่า CTR โดยรวมน่าจะส่งผลอันดับโดยรวมเช่นกัน
11.Meta Keyword … อันนี้นี่หลาย ๆ คนคงรู้กันอยู่แล้วว่าไม่ได้ใช้ใน Google อีกต่อไป เพราะมันมีการสแปมในส่วนนี้กันเยอะ คงไม่ต้องหาอะไรมาอ้างอิงนะครับ เพราะ clear กันอยู่แล้ว
* Useful Content – for user not bot … อันดับสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้คือ ให้เขียนเนื้อหาให้คนอ่านนะครับ ไม่ใช่ให้บอทอ่าน เพราะบอทจะมีการพัทนามาเรื่อย ๆ อยู่ดี พยายามอย่าใช้ Black hat SEO มาทำ เพราะว่ามันไม่คุ้มกัน กว่าเราจะได้อันดับดี ๆ มา เสียเวลาไปหลายเดือน โดนจับได้ว่าโกงทีหายไปจากสารระบบเลย น่ากลัวครับ
บางที SEO on-page ยังมีได้มากกว่านี้ อะไรที่คุณสามารถปรับแต่งได้เอง ก็เป็นส่วนนี้หมด เพราะฉะนั้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อย ๆ น่าจะดีครับ
ขอสรุป SEO on-page ไว้นิดนึง:
โดยรวมทั้งเว็บ
– Domain name
– Internal Linking
– Anchor Text
– Duplicate Content
เฉพาะในเพจ
– Title
– Heading
– File Name, URL
– Alt Tag
– Meta Description
– Content
– External JS, CSS
ก็คงจะเ่ท่านี้แหละครับ แค่นี้ผมก็ว่าจำกันไม่ไหวแล้วล่ะมั้ง … หวังว่าคงช่วยให้มองเห็นอะไร ๆ ได้กว้างขึ้นนะครับ
เพื่อความกระจ่างของผู้เริ่มต้นทำ SEO ผมจะอธิบายว่า SEO Offpage ทำยังไงบ้างในบทความต่อไปของ SEO Basic ก็แล้วกันครับ
ขอบคุณที่แบ่งปันครับ
ขอบคุณครับ หาบทความเกี่ยวกับ on-page แบบละเอียดมานานละ
ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้อีกเยอะเลย
ขอบคุณมากๆเลยคับ